จับสลากผู้ผ่านคุณสมบัติโซลาร์ฟาร์ม167ราย 21 เม.ยนี้
“ขณะนี้เรามีโรงไฟฟ้าล้นเกินคิดเป็นมูลค่าถึง 4 แสนล้านบาท ทั้งนี้เพราะการคำนวณที่ผิดพลาด ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงส่วนหนึ่ง”
คำถามในเชิงเทคนิคก็คือเราใช้อะไรเป็นตัวชี้วัดว่า โรงไฟฟ้ามีจำนวนล้นเกินหรือไม่โดยปกติเขาจะใช้ปริมาณไฟฟ้าสำรองเป็นตัวชี้วัด ถ้ามีปริมาณสำรองเกินร้อยละ 15 ของกำลังการผลิตติดตั้ง โดยคิดจากช่วงเวลาที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดหรือ Peak ซึ่งในประเทศไทยเราจะเกิดขึ้นประมาณบ่ายสองโมงเย็น เพราะเป็นช่วงเวลาที่คนนิยมเดินเข้าห้างสรรพสินค้าและช่วงที่โรงงานเดินเครื่องผลิตสินค้า
อย่างไรก็ตาม ยังมีวิธีการคิดแบบอื่นที่เรียกว่า “อัตราการใช้ประโยชน์ (Utilization Rate)” ของโรงไฟฟ้าทั้งระบบ กล่าวให้ชัดกว่านี้ก็คือ จำนวนร้อยละของเวลาที่โรงไฟฟ้าเดินเครื่องหรือทำงานในช่วงเวลาหนึ่งปี
ถ้าโรงไฟฟ้าโรงหนึ่งเดินเครื่อง 300 วัน ตลอด 24 ชั่วโมง เราจะถือว่าโรงไฟฟ้าโรงนี้มีอัตราการใช้ประโยชน์ร้อยละ 82
ในปี 2539 ก่อนที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 1 ปี กำลังผลิตติดตั้งทั้งระบบมีจำนวน 16,219 เมกะวัตต์ แต่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ทั้งสิ้น 87,797 ล้านหน่วย (หรือล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง) เมื่อคิดเป็นจำนวนร้อยละเวลาการทำงานของโรงไฟฟ้าทั้งหมดพบว่าอยู่ในระดับ 62 หรือเฉลี่ยวันละ 14 ชั่วโมง 48 นาที นั่นแปลว่า โรงไฟฟ้าต้องหยุดพักประมาณ 10 ชั่วโมงกว่าๆ ต่อวัน
แต่หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่ลุกลามไปอีกหลายประเทศในเอเชียแล้ว ร้อยละการทำงานดังกล่าวได้ลดลงอย่างต่อเนื่องนาน 4 ปี โดยต่ำสุดในปี 2543 ลงมาอยู่ที่ระดับ 49 จากนั้นก็ค่อยๆ ยกหัวสูงขึ้นปีละเล็กปีละน้อย ผมได้ใช้ข้อมูลของทางราชการและแสดงเป็นกราฟง่ายๆ ดังภาพครับ
ถ้าเราค่อยๆ ดูกราฟอย่างพิถีพิถันสักหน่อยเราก็จะพบว่า ในปี 2551 ซึ่งเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐอเมริกา อำนาจซื้อของอเมริกันลดลง ส่งผลให้ปริมาณสินค้าส่งออกของไทยลดลงเล็กน้อย ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของไทยจึงลดลงด้วย ร้อยละของเวลาเดินเครื่องโรงไฟฟ้าของไทยก็ลดลงจนสามารถสังเกตได้จากกราฟ เช่นเดียวกันกับในปี 2554 ตอนที่เราเกิดน้ำท่วมใหญ่ในภาคกลางของประเทศ (ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการสรุปอย่างเป็นทางการว่าสาเหตุของน้ำท่วมดังกล่าวจริงๆ แล้วสาเหตุสำคัญคืออะไรกันแน่)
ในปี 2555 เป็นปีที่ระบบโรงไฟฟ้าไทยทำงานหนักที่สุดคือร้อยละ 64 จากนั้นก็ได้ค่อยๆ ลดลงมาติดต่อกันอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับ 57 % ในปี 2558
และจากข้อมูลที่มีล่าสุดที่ทางราชการนำมาเผยแพร่คือเดือนมกราคม 2559 ระดับดังกล่าวลงมาอยู่ที่ 52% ซึ่งเป็นระดับรองต่ำที่สุดในรอบ 20 ปีเศษ
โรงไฟฟ้าที่เหมาะสมควรจะเดินเครื่องร้อยละเท่าใดของเวลา
คำถามนี้ตอบยากครับ ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้
จากการศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งหนึ่งในจังหวัดกระบี่ (โดยคณะกรรมการ 3 ฝ่ายกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ซึ่งแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี) พบว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้ของเหลือจากทะลายปาล์มน้ำมัน สามารถเดินเครื่องได้ปีละ 300 วันๆ ละ 24 ชั่วโมง เมื่อคิดเป็นร้อยละของเวลาทำงานก็เท่ากับ 82 ซึ่งสูงกว่าร้อยละของระบบโรงไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศไทยค่อนข้างมาก
ร้อยละของเวลาทำงานของระบบไฟฟ้าไทยที่อยู่ระหว่างร้อยละ 49-62 ซึ่งค่อนข้างต่ำ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า เป็นการคิดเฉลี่ยทั้งระบบ คือต้องนำไปเฉลี่ยกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำซึ่งในฤดูแล้งมักจะไม่มีน้ำให้ให้ผลิตไฟฟ้า
จากข้อมูลของทางราชการพบว่า เขื่อนที่ผลิตไฟฟ้าในปี 2558 สามารถทำงานผลิตไฟฟ้าเพียงร้อยละ 12 หรือเฉลี่ยไม่ถึง3 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ในขณะที่ในปีที่น้ำท่วมใหญ่ คือ 2554 และ 2555 อยู่ที่ระดับ 26% และ 28% ตามลำดับ
เขียนมาถึงตรงนี้ ขออนุญาตแก้ข้อกล่าวหาของพวกที่ชอบอ้างเพื่อปฏิเสธการสนับสนุนการใช้โซลาร์เซลล์ คนพวกนี้ชอบอ้างว่า “ต้นทุนโซลาร์เซลล์แพงและสามารถทำงานได้เพียงวันละ 4-5 ชั่วโมงเท่านั้น”
ข้ออ้างนี้มี 2 ประเด็น คือหนึ่งเรื่องต้นทุนแพง ประเด็นนี้ผมได้นำหลักฐานมาแสดงบ่อยครั้งมาก ว่าในอดีตนั้นเป็นความจริง แต่ไม่เป็นความจริงแล้วในปัจจุบัน เพราะราคาไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ได้ลดลงอย่างรวดเร็วจนต่ำกว่าต้นทุนของการผลิตจากชนิดอื่นในหลายพื้นที่ของโลกรวมทั้งในประเทศไทยเราด้วย
ขอเพียงอำนาจรัฐอย่ากีดกันในเชิงนโยบายแล้ว ผมรับรองได้ว่าจะมีคนติดตั้งโซลาร์เซลล์กันมากมายเหมือนกับหลายประเทศในโลกนี้
ประเด็นที่สอง เรื่องร้อยละเวลาทำงานของโซลาร์เซลล์ วันละ 4-5 ชั่วโมง ถ้าเขามีระบบคิดอย่างนี้ได้ ทำไมเขาไม่ตั้งคำถามกับกรณีเขื่อนผลิตไฟฟ้าบ้าง ซึ่งทำงานได้น้อยกว่าโซลาร์เซลล์เสียอีก
ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ โซลาร์เซลล์บนหลังคาไม่สิ้นเปลืองพื้นที่ ไม่ต้องใช้น้ำหล่อเย็น ไม่ปล่อยน้ำเสีย ไม่ปล่อยมลพิษ และไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงใดๆ เลย นอกจากพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นของฟรีและไม่มีวันหมด
และถ้าเราต้องการไฟฟ้าที่มากขึ้น เราก็เพียงแต่ขยายพื้นที่วางแผงโซลาร์เซลล์ให้มากขึ้น ซึ่งบ้านของคนชั้นกลางเกือบทั้งหมดสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 2 เท่าของที่ตนเองใช้เกือบทุกหลัง ต่างกับการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าซึ่งเรามีพื้นที่จำกัดและแทบจะไม่มีพื้นที่เหลือให้สร้างเขื่อนใหม่ได้อีกแล้ว
กลับมาที่คำถามเดิมครับ คือ โรงไฟฟ้าที่เหมาะสมควรจะเดินเครื่องร้อยละเท่าใดของเวลา
ผมได้นำผลการวิเคราะห์ของกลุ่มที่ชื่อว่า “Energy & Climate” จากรายงานที่ชื่อว่า “Asia’s Tigers” ซึ่งได้แสดงความห่วงใยต่อกำลังผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าในประเทศอินเดีย และประเทศจีน ซึ่งเป็น 2 ประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและในเอเชียด้วย
ผลการวิเคราะห์พบว่า ร้อยละเวลาทำงานของโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศอินเดียได้ลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2551 (2008) คือร้อยละ 78 ลงมาเหลือร้อยละ 64 ในปี 2558 (2015) ในขณะที่ประเทศจีน ร้อยละเวลาการทำงานของไฟฟ้าพลังความร้อน (รวมเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ เช่น ก๊าซธรรมชาติด้วย) ได้ลดลงจากร้อยละ 60 ในปี 2554 ลงมาเหลือร้อยละ 49 ในปี 2558 และลดลงอย่างต่อเนื่อง
เราคงเคยได้ยินข่าวเรื่องเศรษฐกิจจีนกำลังเกิดฟองสบู่ และเกรงกันว่าจะต้องแตกเข้าสักวัน ข้อมูลที่ผมนำมาเสนอในที่นี้คือตัวชี้วัดที่สำคัญมากๆ กรณีต้มยำกุ้งของประเทศไทยเราเป็นตัวอย่างที่ดี
สำหรับกราฟล่างสุดทางขวามือ หรือเส้นสีน้ำตาล คือปริมาณความต้องการไฟฟ้าของประเทศจีน เราจะเห็นว่ามีแนวโน้มที่จะถึงจุดอิ่มตัวแล้ว โดยความต้องการไฟฟ้าในปี 2015 มีอัตราการเติบโตเพียงร้อยละ 0.5 เท่านั้น
ท่านผู้อ่านที่ไม่ค่อยได้ติดตามเรื่องไฟฟ้าของประเทศไทยอย่างใกล้ชิด อาจจะรู้สึกสับสนกับข่าวคราวที่กำลังเกิดขึ้น เพราะทางราชการได้พยายามที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในช่วงระยะเวลาใกล้ๆ นี้อีกจำนวนมาก เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่ขนาด 800 เมกะวัตต์ ซึ่งตามแผนพีพีดี 2015 จะเข้าระบบในปี 2562 และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา ขนาด 2,200 เมกะวัตต์ โดยมีกำหนดจะเข้าสู่ระบบในปี 2564 และ 2566 (ถ้าจำไม่ผิด) ขณะเดียวกันทางชาวบ้านในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบก็กำลังคัดค้านอย่างรุนแรงในทุกพื้นที่เช่นกัน
คนชั้นกลางในเมืองจึงรู้สึกสับสน ไม่รู้จะเชื่อใครดี
ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ผมได้ผ่านอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็ได้เห็นป้ายคัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ผมถ่ายรูปไม่ทัน แต่เมื่อมาค้นอินเทอร์เน็ตก็พบข่าวและเรื่องราวจากสำนักพิมพ์มติชน ผมจึงขอนำภาพมาลงให้ดูในที่นี้ด้วย แต่คราวนี้เขา “ไม่เอาทั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และถ่านหิน” เรียกว่าควบเลยครับ
ช่วงก่อนสงกรานต์ “ไทยรัฐออนไลน์” ได้ลงข่าวความว่า “รัฐสั่งหยุดขายไฟฟ้า จากพลังงานทดแทน”
เนื้อข่าวบอกว่า กระทรวงพลังงานได้สั่งหยุดรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากทะลายปาล์มน้ำมัน ทั้งๆ ที่ทางภาคเอกชนได้ดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ขายไฟฟ้าไม่ได้
ข่าวชิ้นนี้ไม่ได้ระบุสาเหตุที่ชัดเจนถึงเหตุผลของคำสั่งดังกล่าว ทั้งๆ ที่ โรงไฟฟ้าชีวมวลจากโรงงานรับซื้อปาล์มน้ำมันมีจำนวนร้อยละของชั่วโมงทำงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศไทย สูงกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินในอินเดีย
นอกจากนี้ ยังพบว่า หากมีการปรับเปลี่ยนประสิทธิภาพของหม้อน้ำในโรงไฟฟ้าให้สูงขึ้น ปริมาณเชื้อเพลิงจากเศษเหลือของปาล์มน้ำมันในจำนวนเท่าเดิมจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าที่คนภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัดใช้รวมกัน
ประเทศเยอรมนีซึ่งมีชีวมวลน้อยกว่าประเทศไทย และมีแสงแดดน้อยกว่าประเทศไทยด้วย แต่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงาน 2 ชนิดนี้ได้มากกว่าที่คนไทยทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ และ 14 จังหวัดภาคใต้ใช้รวมกันเสียอีก
แต่ทางรัฐบาลไทยก็พยายามจะนำเชื้อเพลิงที่ประเทศไทยเราไม่มี คือ ถ่านหินและนิวเคลียร์มาใช้อย่างเดียว ที่เขาย่ามใจทำเช่นนี้มาตลอด ก็เพราะเขาคิดว่า คนไทยเราไม่รู้เรื่อง และไม่สนใจจะเรียนรู้ด้วย
เรียนตามตรงว่า เหนื่อยครับ เราน่าจะเอาสติปัญญาไปช่วยกันคิดเพื่อพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ อีกเยอะแยะเรื่องที่เรายังอ่อนด้อยอยู่มาก น่าเสียดายครับที่ต้องมาจมปลักอยู่กับเรื่องผลประโยชน์เฉพาะหน้าของกลุ่มพ่อค้าถ่านหินซึ่งได้ตกยุคสมัยไปแล้ว