ค่า Ft ติดลบ มีความหมายอย่างไร

News
Date: 12/02/2016
      ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดปัจจุบันมีค่าติดลบ ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่า เป็นเพราะอะไร คำตอบก็คือ ค่า Ft ที่ติดลบในงวด ก.ย. – ธ.ค. 2558 และงวด ม.ค. – เม.ย. 2559 มาจากการปรับค่าไฟฟ้าฐานในเดือนพฤศจิกายน 2558 และราคาเชื้อเพลิงที่ลดลง ดังนี้

1. การปรับค่าไฟฟ้าฐานตามวาระ ซึ่งคณะกรรมการกิจการพลังงานจะพิจารณาปรับทุก 3 – 5 ปี โดยการปรับครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา ได้นำค่าไฟฟ้าฐานเดิม 3.27 บาทต่อหน่วย มารวมกับค่า Ft ในงวด พ.ค. - ส.ค. 2558 คือ 49.61 สตางค์ต่อหน่วย พร้อมกับปรับลดค่าไฟฟ้าฐานลงอีก 1.05 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าฐานใหม่เป็น 3.75 บาทต่อหน่วย และตั้งค่า Ft ใหม่ เริ่มต้นจาก 0



2. การลดลงของค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า และค่าซื้อไฟฟ้า ที่เกิดขึ้นหลังการปรับค่าไฟฟ้าฐาน ทำให้ค่า Ft ทั้ง 2 งวดล่าสุด มีค่าติดลบ



กล่าวโดยสรุปได้ว่า ค่าไฟฟ้า Ft ลดลงมาทุกงวด ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา

ค่า Ft จึงมีทั้งค่าเป็น + และ – เปลี่ยนแปลงตามต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริง ในแต่ละช่วงเวลา สำหรับค่า Ft งวดปัจจุบัน ลดลงเล็กน้อย จากปัจจัยค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่ค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ เช่น การซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีการปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ประมาณ 7 สตางค์ต่อหน่วย จาก 16 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็น 23.05 สตางค์ต่อหน่วย

ค่า Ft = การเปลี่ยนแปลงของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปจากค่าไฟฟ้าฐาน (ค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า + ค่าซื้อไฟฟ้า + ค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ)

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการปรับตัวขึ้นหรือลงของค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า และค่าซื้อไฟฟ้า จะเกิดขึ้นตามหลังการปรับตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลก 6 – 12 เดือน ตามสัญญาแหล่งก๊าซธรรมชาติแต่ละแหล่ง นอกจากนี้ ราคาก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้ายังผูกกับราคาน้ำมันเตาในตลาดโลกเพียงร้อยละ 30 – 40 จึงทำให้การปรับตัวขึ้นลงของก๊าซธรรมชาติน้อยกว่าน้ำมันเตาราว 3 เท่าตัว


credit: www.egat.co.th