คนใต้กับการขับเคลื่อนพลังงานโซลาร์เซลล์ ความจริง ความฝันและความเป็นไปได้
News
Date: 26/06/2016
เมื่อวันที่ 26 มิ ย.ที่ผ่านมาที่มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.พัทลุง มีการกิจกรรมอบรมการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาวะพลังงานโซล่าเซลล์ และ การจัดการน้ำ ประชาชนออกแบบได้ ฝายมีชีวิต คือการจัดการน้ำที่มีชีวิต ใช้เวลาระหว่างวันที่ 26-27 มิ.ย.ในการอบรมและปฏิบัติการณ์จริง มีผู้เข้าร่วมจากหลายจังหวัดของภาคใต้ อย่างเช่น จ.สงขลา จ.นครศรีธรรมราช จ.สตูล จ.พัทลุง จ.ตรัง จ.กระบี่ จ.สุราษฯ จ.ชุมพร ประมาณ 200 กว่าคน โดยมีคณะวิทยากร อย่างเช่น ผศ.ดร.สมพร ช่วยอารีย์ คณะวิทยาศาสตร์ มอ.วิทยาเขตปัตตานี นางสาวขวัญกนก กษิรวัฒน์, นายไพบูลย์ เตชจารุวงศ์, นาย วีระชัย อินทรัตน์, นายอธิกานต์ ทองแก้ว, นายก้อดิ้น ชายเห, นายสุเทพ งามศรีขำ, นายจิรัฐพล สอนทอง, นายอุทัย บุญดำ
ผศ.ดร.สมพร ช่วยอารีย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า แสงแดดที่เราเคยอาบมายาวนาน สามารถนำมาใช้ในบ้านได้แล้ว ปกติเราใช้หลังคาชนิดปิดบังแดด ฝน ลม ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นนำแดด นำลม นำน้ำฝนมาใช้
“ผมติดตามโซลาเซลล์มาเป็นสิบปี และได้มาขับเคลื่อนจริงจังในสามปีที่ผ่านมา ประเด็นน่าสนใจ เมื่อเกิดภัยพิบัติเราจะนำพลังงานมาใช้ได้อย่างไร อย่างที่เกิดภัยพิบัติหาดใหญ่ในปี ค.ศ.2000 หรือภัยพิบัติภาคใต้ใน พ.ศ.2554 สามารถจัดการอาหารได้ แต่ไม่สามารถจัดการพลังงานมาใช้ในช่วงนั้นได้”
เมื่อปี พ.ศ. 2427 ประเทศไทยมีไฟฟ้าใช้เป็นครั้งแรก ในต่างจังหวัดกลับได้ใช้ไฟฟ้าช้ามาก ข้อดีของโซลาเซลล์ คือ เมื่อไฟดับ แต่บ้านของเราไม่ดับ การปล่อยไฟเข้าบ้านตัวเอง ดีกว่าปล่อยน้ำ เพราะอิเล็กตรอนที่ออกมาจากแดด กับอิเล็กตรอนที่มาจากสายไฟเป็นอิเล็กตรอนหน้าตาเหมือนกัน ต่างกับน้ำที่มาจากหลายแหล่ง อิเล็กตรอนจะตีกันได้ นำมารวมกันไม่ได้
ผศ.ดร.สมพร กล่าวอีกว่า ภาคใต้ มีความเชื่อกันว่ามีแสงแดดน้อย แดดไม่มีคุณภาพ ฝนตกมาก ระนอง เชื่อว่า ฝนแปด แดดสี่ ในขณะที่ความจริงฝนแปดเดือน ฝนได้ตกทุกวันหรือไม่ แดดสี่ มีฝนตกบ้างหรือไม่ หลังฝนตกฟ้าสว่าง แดดก็ส่องมาที่บ้านเรา หากหลังคาบ้านของเรามีแผงโซลาร์เซลล์ แดดส่องมาจะมีความร้อนที่แผง แต่ความร้อนไหลออกไป การติดตั้งจะหันไปทางทิศใต้ หรือเหนือ ทำงานได้ดีในอุณหภูมิ 20-30 องศาเซลเซียส
ประเทศญี่ปุ่นแนะนำว่าสามารถติดแผงโซลาร์เซลล์ในทิศไหนก็ได้ ฝนมีประโยชน์จะช่วยชะล้างฝุ่น และความร้อนออกไป หากมีเมฆมาก ยังใช้ไฟได้ในอัตราที่น้อยกว่าเดิม หากฝนตกทั้งปีประมาณ 170-180 วัน อีกครึ่งปีสามารถผลิตไฟได้พอใช้ แดดประเทศไทยค่าเฉลี่ยที่ 53 มากกว่าประเทศเยอรมัน
ความจริง แดดภาคใต้อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ ทดลองมาสามปี เทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกล ในอดีตราคาแผง 120 วัตต์สามแสนบาท ตอนนี้ราคาเหลือสามพันกว่าบาท ราคาลดลงเป็น 100 เท่า
ผศ.ดร.สมพร เพิ่มเติมว่า ความฝัน อยากเห็นทุกครัวเรือนผลิตไฟฟ้าได้เอง ผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ไหน โรงไฟฟ้าอยู่ที่นั่น หากมี 5 โรงนี้ 1. ปฏิวัติการไฟฟ้า ผลิตไฟฟ้าเองได้ 2. ปฏิวัติการประปา สร้างแหล่งน้ำเป็นของตัวเอง 3. มีโรงแก๊ส จากชีวภาพ 4. โรงพยาบาลในบ้าน มีผักสวนครัวกินเอง 5. มีโรงเรียน คือ ศูนย์เรียนรู้ในการศึกษา เป็นการปฏิรูปการศึกษา
ความเป็นไปได้ การผลิตไฟฟ้าตอนนี้ ล้ำหน้ากว่านโยบาย สามปีที่ผ่านมาทดลองผลิตไฟฟ้าที่บ้านแม่เพียงหนึ่งแผง จนตอนนี้ขยายเป็นแปดแผง และ ที่มอ.ปัตตานีจากทดลองสี่แผง ขยายเป็นเจ็ดแผง และมีการทดลองสับคัตเอาท์แล้ว 23 เดือน จ่ายค่าไฟเพียงเดือนละ 40 บาทเป็นค่าบำรุงมิเตอร์ การใช้ หรือไม่ใช่ไฟ เป็นสิทธิและเสรีภาพในการสับคัตเอาท์ที่สามารถทำได้
ระบบไฟโซลาเซลล์ มี 2 ระบบ 1.แผงต่อเข้ากริดไทอินเวอร์เตอร์ ต่อเข้ากับไฟฟ้าที่บ้าน 2.ระบบออฟกริด (ไม่ใช้แบตเตอรี่) เช่น ระบบผลิตไฟที่รถ
“ตอนนี้เราตื่นกันหรือยัง หากเรามองว่าหลังคาเรือนของทุกๆ หลังกว่า 120 ล้านครัวเรือน ร่วมกันผลิตไฟฟ้า จะสามารถผลิตได้มากกว่าล้านหน่วย และมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ไฟฟ้าอยู่ในมือท่าน อยู่ที่ว่าเมื่อไหร่จะเริ่มหมุน”
ด้าน ดร.ดำรงค์ โยธารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้เพื่อจัดการตนเองนครศรีธรรมราช กล่าวว่าเมื่อมีไฟฟ้า เราได้ทำอาหาร ปรุงกับข้าว แต่อาหารต่างๆ ล้วนมาจากน้ำ ที่ผ่านมา ชาวลุ่มน้ำปากพนัง นครศรีธรรมราช ได้จัดการตนเองผ่านฝายชีวิต คำถามสำคัญ ทำไมประชาชนต้องจัดการตนเอง ยิ่งปล่อยให้รัฐจัดการ น้ำยิ่งเหลือน้อย คลองยิ่งขุดลอกยิ่งตื้น ยิ่งไม่ได้น้ำ เพราะหน่วยงานของรัฐจัดการอ่างเก็บน้ำ เขื่อน ขุดลอกคลองแล้วไม่มีน้ำ แสดงว่าการขุดลอกคลองไม่ตอบโจทย์ ยิ่งขุดยิ่งตื้น เพราะมีการขุดเอารากไม้ที่อุ้มน้ำออกไป กลายเป็นโครงการเชิญน้ำให้ออกจากระบบอย่างรวดเร็ว ปลาเล็กปลาน้อยตายจนหมด เพราะเป็นการทำลายระบบนิเวศน์
ถ้าชุมชนจัดการและพึ่งตนเองได้ รัฐมีหน้าที่แค่หนุนเสริม ไม่มาก้าวก่าย ประชาคม ใช้เพื่อการตัดสินใจร่วมเพื่อแก้ไขปัญหา ฝายมีชีวิต เป้าหมาย ชุมชนต้องจัดการตนเองได้ พึ่งพาตนเองได้ เมื่อเป้าหมายเปลี่ยน เครื่องมือต้องเปลี่ยน การทำฝายจะใช้ประชาคม การโหวตไม่ได้ ต้องใช้วิธีประชาเข้าใจ ด้วยตารางวิเคราะห์ทางเลือก แผนงานจะต้องมาจากการวิเคราะห์สังเคราะห์จากชุมชน ได้มาจากเปลี่ยนปัญหาความต้องการ เป็นความจำเป็น ผลลัพธ์ทั้งชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ เอ็นจีโอเข้มแข็ง
ดร.ดำรงค์ กล่าวอีกว่า การจัดการน้ำของรัฐเป็นการรวมศูนย์ ระบบท่อ ไม่เข้าใจระบบนิเวศน์ แต่ฝายมีชีวิตเป็นการจัดการน้ำที่ ใช้ทฤษฎีไข่ขาว-ไข่แดง ไข่ขาว คือ น้ำที่มองเห็น ไข่แดง คือ น้ำที่ซึมใต้ดิน ทำให้ได้น้ำ อย่าขุดลอกคลอง แต่ยกระดับน้ำขึ้นมา
ฝายมีชีวิต เป็นการนำความรู้ของชาวบ้าน ขึ้นมาจัดการน้ำในชุมชน คนที่จัดการน้ำได้ดีที่สุด คือ บรรพบุรุษของเรา เราได้ฝาย ได้น้ำ ได้ความสมานฉันท์กลับคืนมา ชุมชนจัดการน้ำโดยกระจายอำนาจในการจัดการ ไม่ต้องมีเขื่อน เพียงแต่จัดการให้หลังบ้านมีน้ำเหลือเฟือสมบูรณ์
กติกาเหล็กของฝายมีชีวิต คือ ห้ามใช้เหล็กและปูน เพราะต้นไทรกินเหล็กและปูนไม่ได้ ฝายมีชีวิตมีอายุตามต้นไทร หลักการสามขาฝายมีชีวิต 1.ต้องทำเวทีประชาเข้าใจ 2.เมื่อชาวบ้านตัดสินใจทำ ต้องลุกขึ้นมาจัดการตนเอง ห้ามมีค่าแรง เพื่อประโยชน์ของตนเอง ต้องทำเอง 3.เมื่อได้ฝาย ได้น้ำ ได้ระบบนิเวศน์คืน ชุมชนต้องมาประชุมกัน เพื่อจะสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างไรในการจัดการน้ำ และต้องออกข้อตกลงร่วมกันของชุมชน หรือ ธรรมนูญคลอง
รัฐรวมศูนย์-ชุมชนกระจาย-รัฐมองน้ำบนดิน-ชุมชนมองน้ำใต้ดิน-รัฐทำเชิงเดี่ยว-ชุมชนทำแบบกระจาย
ที่มา : โดย MGR Online