เมื่อดูไบและเยอรมนีประมูลไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มได้ราคาต่ำกว่าผลิตจากถ่านหิน
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อแหละครับว่า โลกเรานี้เปลี่ยนเร็วมากจริงๆ แม้ตัวผมเองซึ่งได้ติดตามนโยบายพลังงานหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของประเทศเยอรมนี ยังได้ตกข่าวนี้เลยครับ โชคดีที่มีเพื่อนคนหนึ่งในเฟซบุ๊กได้โพสต์ขึ้นมา ผมจึงค้นคว้าเพิ่มเติมและขอนำมาเล่าสู่กันฟังพร้อมเอกสารอ้างอิง
ที่ว่าโลกเราเปลี่ยนเร็วมากก็เพราะว่า รัฐบาลประเทศเยอรมนีซึ่งได้สนับสนุนพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2543 โดยวิธีการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มในราคากลางปี 2558 ที่อัตรา 3.40 บาทต่อหน่วยโดยไม่จำกัดจำนวน (ในขณะที่ประเทศไทยเรารับซื้อจากโซลาร์ฟาร์มในราคา 5.66 บาทและจำกัดอยู่กับบางบริษัท ในราคานี้มาตั้งแต่ปี 2557และไม่ยอมรับซื้อจากหลังคาบ้านของอยู่อาศัย) มาวันนี้ประเทศเยอรมนีได้ปรับมาเป็นการประมูลแล้ว นับถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ได้ประมูลมา 4 ครั้งแล้ว (ดังแผ่นภาพข้างต้น)
ผู้ชนะการประมูลในครั้งที่ 4 ขนาด 128 เมกะวัตต์ได้เสนอราคาต่ำสุดเฉลี่ยที่ 2.90 บาทต่อหน่วยไฟฟ้า ที่ว่าผมตกข่าวก็ตรงเรื่องการประมูลนี้แหละครับ และเป็นการประมูลครั้งที่ 4 แล้ว ในขณะที่เพื่อนผมได้โพสต์การประมูลครั้งที่ 3
เอกสารที่ผมนำมาอ้างถึงเป็นขององค์กรระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) โดยมีหน่วยงานย่อยที่ชื่อ “องค์การพลังงานสากล (IEA)” ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2517 ซึ่งเป็นปีที่ราคาน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศโอเปกได้ขึ้นราคาไป 3-4 เท่าตัวในเวลาปีเดียว
ไม่เพียงแต่ประเทศเยอรมนีประเทศเดียวที่ใช้วิธีการประมูล แต่มีหลายประเทศครับ เช่น กรีซ อินเดีย อาร์เจนตินา และออสเตรเลีย เป็นต้น ในแผ่นภาพนี้ เมืองดูไบก็ใช้วิธีการประมูลขนาด 800 เมกะวัตต์ ผู้ชนะการประมูลเสนอราคา 1.05 บาทต่อหน่วยซึ่งถือว่าเป็นราคาต่ำที่สุดในโลก ผู้เสนอราคาสูงสุดในการประมูลครั้งนี้เท่ากับ 1.58 บาทต่อหน่วยซึ่งก็แพ้ไปตามระเบียบ (IEA อ้างข้อมูลจาก PV Magazine 2 พ.ค. 2559)
เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้มีเวลาครุ่นคิด ท่านลองเอาใบเสร็จค่าไฟฟ้ามาดูซิครับว่า ท่านได้จ่ายค่าไฟฟ้าอยู่ในราคาเท่าใด
และเพื่อให้เราได้เห็นแนวโน้มของราคา ผมขอย้อนไปดูราคาผู้ชนะการประมูลของประเทศเยอรมนี 3 ครั้งที่ผ่านมา
การประมูลครั้งที่ 3 เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2558 ขนาด 200 เมกะวัตต์ ผู้ชนะการประมูลเสนอขายไฟฟ้าราคา 3.03 บาทต่อหน่วย สูงกว่าครั้งที่ 4 ถึง 13 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีผู้เข้าประมูล 170 บริษัท สำหรับครั้งที่ 2 เมื่อเดือนสิงหาคม มีผู้เข้าประมูล 136 ราย ผู้ชนะการประมูลเสนอราคาขายไฟฟ้า 2.98 บาทต่อหน่วย (ต่ำกว่าครั้งที่ 3)
ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมราคาในเมืองดูไบ (เมืองใหญ่ที่สุดของ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตะวันออกกลาง) กับราคาในประเทศเยอรมนีจึงได้แตกต่างกันมากนัก คือเกือบ 3 เท่าตัว คำตอบที่สำคัญก็คือ พลังงานแสงแดดต่อพื้นที่หนึ่งตารางเมตรของสองประเทศต่างกันมาก กล่าวคือในขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศเยอรมนีผลิตได้ 850 หน่วยต่อหนึ่งกิโลวัตต์ (ใช้พื้นที่ประมาณ 7 ตารางเมตร) เมืองดูไบสามารถผลิตได้ถึงประมาณ 2,500 หน่วยโดยใช้พื้นที่เท่ากัน (ดังแผนที่ประกอบ)
คราวนี้เราลองมาพิจารณากรณีของประเทศไทยกันบ้าง
สมมติว่าต้นทุนในการผลิตต่อโครงการของประเทศไทยกับของเมืองดูไบเท่ากัน (สมมตินะครับสมมติ) โดยการเทียบบัญญัติไตรยางศ์ก็พบว่า ผู้ชนะการประมูลในเมืองดูไบน่าจะเสนอราคาในประเทศไทยได้ที่ 1.75 บาทต่อหน่วย เนื่องจากพลังแสงแดดในประเทศไทยต่ำกว่าเมืองดูไบค่อนข้างมาก
ผมเชื่อว่าข้อมูลที่ผมได้นำเสนอมานี้ คงจะช็อกความรู้สึกของใครหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ถ้ามองกันในแง่ดีๆ ก็เพราะว่าคนเหล่านั้นตามโลกไม่ทันนั่นเอง มัวแต่ยุ่งอยู่กับการบริหารงานเอกสารจนหมดเวลา
อ้อ ผมลืมบอกไปนิดหนึ่งว่า การประมูลของประเทศเยอรมนีที่ผ่านมา ผู้ประมูลได้จะต้องผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบภายในปี 2561 ครับ (ถ้าจำไม่ผิด) โดยต้องมีการวางเงินมัดจำเรียบร้อย
ระหว่างที่ผมเขียนบทความนี้ เพื่อนคนเดิมได้ส่งข้อความมาถึงผมเป็นการส่วนตัวว่า “บางบริษัทที่ชนะการประมูลไปแล้ว ก็ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง ดังนั้น รัฐบาลเยอรมนีจึงต้องมีความระมัดระวังในเรื่องนี้ด้วย” อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผมได้ติดตามพบว่า ประเทศเยอรมนีกำลังศึกษาวิธีการและมาตรการดังกล่าวอยู่ ซึ่งอาจจะอยู่ในขั้นการทดลอง ก็อย่างที่ว่าแหละครับ การประมูลมันเป็นของใหม่ของประเทศเขาเหมือนกัน
ผมเองก็ใช่ว่าจะเชื่ออะไรง่ายๆ แต่ผมมีข้อมูลให้ตรวจสอบได้ทั้งจากเอกสาร และจากการสอบถามจากผู้ที่ได้ติดตั้งแล้ว
ผมลองคิดให้ต่ำๆ หน่อย คือ สมมติว่าติดตั้งในประเทศไทยขนาด 10 กิโลวัตต์ ลงทุนทั้งหมด 6 แสนบาท (ความจริงไม่ควรเกิน 5 แสนบาท) ผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 13,500 หน่วย ในช่วงเวลา 20 ปี (แทนที่จะเป็น15,000 หน่วย และนาน 25 ปีตามที่อ้างกัน) รวมทั้งโครงการสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 270,000 หน่วย ดังนั้น ต้นทุนเฉลี่ยตลอดโครงการ 2.22 บาทต่อหน่วยเท่านั้น
ถ้านำเงินลงทุน 2.22 บาทไปฝากธนาคารด้วยอัตราดอกเบี้ยทบต้น 2.0% ต่อปี เมื่อครบ 20 ปี ก็จะได้เงินรวม 3.30 บาท ต่ำกว่าค่าไฟฟ้าที่เราจ่ายในปีนี้เสียอีก สิ่งที่ผมพยายามจะบอกก็คือ การติดโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองให้ผลตอบแทนสูงกว่านำเงินไปฝากธนาคาร หรือเปลี่ยนหลังคาบ้านเป็นธนาคาร
คราวนี้มาดูราคารับซื้อไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กันบ้าง จากข้อมูลล่าสุด ทาง กฟผ.รับซื้อจากเอกชนที่ผลิตจากถ่านหินในราคา 2.69 บาทต่อหน่วย (ซึ่งน่าจะมีแนวโน้มที่สูงขึ้นกว่านี้อีกในอนาคต) และรับซื้อจากโซลาร์ฟาร์ม (แสงอาทิตย์ขนาดใหญ่) ที่ 5.66 บาทต่อหน่วยจนถึง 6.85 บาทต่อหน่วย (สำหรับผู้ผลิตจากหลังคา)
ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวน 3 โรง ซึ่งจะเข้าสู่ระบบในปี 2562, 2565 และ 2567 รวม 3 พันเมกะวัตต์ ด้วยเหตุผลสำคัญ 2 ประการที่นำมาอ้าง คือ
(1) ต้นทุนราคาไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมีราคาถูก แต่ผมมีหลักฐานมาจากทั่วโลกแล้วว่าไม่เป็นความจริงเลย นอกจากนี้ ประเทศไทยเราไม่มีถ่านหิน ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
(2) เป็นโรงไฟฟ้าหลัก หรือ Base Load ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงใน 7 วันได้ ในเรื่องนี้ ผมเองในฐานะนักคณิตศาสตร์ ไม่มีความรู้ทางวิศวกรรม ผมก็เชื่อตามที่เขาอ้างมาตลอด
มาวันนี้ ผมมีเอกสารวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับโลก ทั้งการปฏิบัติจริงของบางรัฐในบางประเทศ ทั้งจากการใช้คอมพิวเตอร์จำลองสถานการณ์(Computer Simulation) รวมทั้งจากการฟังคำบรรยายผู้เชี่ยวจากประเทศเดนมาร์กเมื่อเร็วๆ นี้พบว่าไม่เป็นความจริงอีกเช่นกันครับ
แนวคิดที่ต้องมี Base Load เป็นกระบวนทรรศน์เก่า ยังเป็นกระบวนทรรศน์ในยุค “เครื่องจักรไอน้ำ” ที่ใช้หลักการของ “ฟิสิกส์แบบดั้งเดิม” เมื่อ 200 ปีก่อนทำให้พลังงานร้อยละ 65% ของพลังงานที่ป้อนเข้าไปกลายเป็นความร้อน ได้ไฟฟ้าเพียง 35% เท่านั้น แม้จะมีการปรับปรุงไปบ้าง แต่ก็ถือเป็นยุคเก่าเหมือนเดิม
มาวันนี้ เป็นยุค “ธุรกิจไฮเทค (Silicon Valley)” ซึ่งเป็นยุคของ “ฟิสิกส์แบบควอนตัม” ที่อิเล็กตรอนนับล้านๆ ตัวทำงานแทนเกียร์และลูกสูบได้อย่างรวดเร็วมากๆ ได้พลังงานจากแสงอาทิตย์โดยไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องใช้ไอน้ำ ไม่ปล่อยอากาศเสีย รวมทั้งไม่ปล่อยน้ำเสีย ในขณะที่เกิดการสูญเสียพลังงานประมาณ 9% เท่านั้น
“ฟิสิกส์แบบควอนตัม” นี่แหละครับที่ทำให้เรามีโทรศัพท์มือถือใช้ในราคาถูกและประสิทธิภาพสูงมาก จนแยกไม่ออกว่าเป็นโทรทัศน์ โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ หรือกล้องถ่ายรูป ฯลฯ
ในยุคไฮเทคที่ทำให้พลังงานหมุนเวียนที่เคยถูกละเลย ได้เพิ่มบทบาทมากขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นจำนวนมาก มากกว่าพลังงานฟอสซิลเสียอีกแนวคิดเรื่อง Base Load จึงเป็นแนวคิดที่ล้าหลัง ตกยุค แต่วันนี้ผมยังไม่ขอลงในรายละเอียดนะครับ
สรุป
เมื่อประมาณ 15 ปีก่อน ตอนนั้นผมยังทำงานราชการเต็มเวลากินเงินเดือนประชาชน ชาวบ้านคนหนึ่งได้บอกกับผมว่า “อาจารย์อย่าเอาแต่นอน ช่วยหาความรู้มาให้พวกฉัน แล้วพวกฉันจะคิดเอง” มาถึงวันนี้ ผมเกษียณราชการแล้ว กินเงินเดือนบำนาญ แม้การเขียนบทความจะไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ แต่ผมยังรู้สึกเป็นหนี้สังคมไทยยังจำคำเตือนที่มีค่าของชาวบ้านได้ดี ผมจึงใช้เวลาส่วนใหญ่ของผมเพื่อค้นหาความรู้มาบอกเล่าให้กับสังคมไทยอย่างต่อเนื่องและยาวนาน
ถ้าเรื่องที่ผมได้นำเสนอมาแล้วยังยากต่อการทำความเข้าใจ กรุณาเปรียบเทียบกับเรื่องที่ง่ายกว่านี้ คือราคาเอทานอล ในขณะที่ราคาในสหรัฐอเมริกาและบราซิลประมาณ 11 ถึง 14 บาทต่อลิตร แต่ราคาที่คนไทยต้องจ่าย (ซึ่งผลิตในประเทศไทย) สูงถึง 23 บาทต่อลิตร (ดูภาพประกอบ) ทำไมมันจึงเป็นเช่นนี้
ขอท่านผู้อ่านโปรดพิจารณา หรือ “คิดเอง” ว่าปัญหาด้านพลังงานซึ่งมีมูลค่าถึง 18-19% ของจีดีพีประเทศไทยเราเป็นอย่างไร และจะมีทางออกอย่างไร ถ้าเห็นด้วยก็กรุณาช่วยกันเผยแพร่ และกรุณาร่วมกันครุ่นคิดเพื่อหาทางออกให้ลูกหลานครับ
ที่มา : MGR Online
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000066157