พีค 4 ทุ่ม จุดเปลี่ยนพลังงานไทย

News
Date: 05/07/2016

เมื่อพลังงานแสงอาทิตย์ช่วยลดยอดพีคกลางวันกว่า 1 พันเมกะวัตต์

     พีคหรือการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของระบบ กฟผ. ปี 2559 เกิดเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2559 เวลา 22.28 น. ซึ่งเป็นการเกิดพีค 2 ครั้งในวันเดียวกัน และนับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 23 ปี ที่พีคเกิดในเวลากลางคืน สาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว อากาศร้อนสะสม และพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า ส่วนปัจจัยที่ทำให้พีคในระบบของ กฟผ. เกิดหลัง 4 ทุ่ม เนื่องจากกำลังการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ของผู้ผลิตขนาดเล็กมาก(VSPP) ราว 1,000 เมกะวัตต์ ทำให้ค่าพีคของระบบ กฟผ. ในช่วงบ่ายต่ำกว่าค่าที่เกิดจริง ขณะที่โรงไฟฟ้าก๊าซ – ถ่านหิน เดินเครื่องเป็นโรงไฟฟ้าหลักตลอด 24 ชั่วโมง และรองรับพีคของระบบที่เกิดซ้ำในเวลากลางคืนของวันเดียวกัน

ภาวะเศรษฐกิจและนโยบายภาครัฐ

จากภาวะเศรษฐกิจชะลออย่างต่อเนื่องในปี 2554 – 2558 รัฐบาลได้เพิ่มการลงทุนภาครัฐ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งภาคการลงทุน การผลิต และการท่องเที่ยว ส่งผลให้ไตรมาสแรกของปี 2559 GDPขยายตัวดีขึ้นถึงร้อยละ 3.21 ส่งผลให้ปีนี้ การใช้ไฟฟ้าสูงสุดในระบบ กฟผ. ทำลายสถิติรวม 7 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 8.31 โดยการใช้ไฟฟ้าสูงสุดรายภาคสูงขึ้นร้อยละ 7.69 – 13.37 ยกเว้นเขตนครหลวง ที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเกิดในเวลากลางวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.85

ความร้อนสะสมจากปรากฏการณ์เอลนีโญ

ปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นในปี 2558 - 2559 นอกจากจะทำให้ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง ต่อเนื่องถึงเดือนพฤษภาคม 2559 ยังทำให้เกิดคลื่นความร้อน และอากาศร้อนอบอ้าวสะสมทั่วทุกภาคของประเทศ โดยอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น 39.5 องศาเซลเซียส สูงกว่าปี 2558 ในช่วงเดียวกันเฉลี่ยประมาณ 3 องศาเซลเซียส ซึ่งประมาณการว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 องศาฯ จะทำให้ความต้องการไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น 400 เมกะวัตต์

สภาพแวดล้อมและการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป

จากสภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิตประจำวันของสังคมไทย ที่เปลี่ยนแปลงเป็นสังคมเมือง ความต้องการเครื่องอำนวยความสะดวก และเครื่องมือสื่อสารอีเล็กทรอนิค กลายเป็นลมหายใจที่ขาดไม่ได้ของผู้คนในยุคดิจิตอล ขณะเดียวกัน สภาพการจราจรที่ติดขัด โครงการพัฒนาด้านคมนาคมต่างๆ การสร้างรถไฟฟ้า ได้มีส่วนผลักดันให้รูปแบบการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป เป็นครอบครัวเล็กๆ อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้มีการใช้เครื่องปรับอากาศและตู้เย็นเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว จึงไม่น่าประหลาดใจว่า ความต้องการไฟฟ้าในวันพีค เริ่มไต่สูงขึ้นตั้งแต่หัวค่ำจนถึง 4 ทุ่ม นับเป็นพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางคืน ที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์

พีค 4 ทุ่ม เกิดจากอะไร

ในอดีตกว่า 20 ปี ที่ผ่านมา พีคของประเทศไทย เกิดในช่วงค่ำหลัง 19.00 น. เป็นต้นไป จากความต้องการใช้ไฟฟ้าแสงสว่างในครัวเรือน แต่หลังจากปี 2536 เป็นต้นมา พีคของประเทศไทยเปลี่ยนมาเป็นเวลาบ่าย 14.00 – 15.00 น. ซึ่งมาจากความต้องการไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมและบริการที่มีสัดส่วนสูงขึ้น แต่สำหรับสาเหตุที่ทำให้พีคของระบบ กฟผ. ที่เกิดในเวลาหลัง 4 ทุ่ม ของปีนี้ แตกต่างจากอดีต เนื่องจากโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันรัฐบาลให้การสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์มากขึ้น ทั้งจากผู้ผลิตรายเล็ก(SPP) และผู้ผลิตรายเล็กมากที่ต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์(VSPP) และการติดตั้งบนหลังคาบ้านเรือนขนาด 5 – 10 กิโลวัตต์ ซึ่งในส่วนของ VSPP และเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคานั้น ขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ทั้ง กฟน. และ กฟภ. ทำให้ข้อมูล Real Time จากการผลิตและจำหน่าย ไม่ปรากฏในระบบของ กฟผ.

โดยที่กำลังผลิตของ VSPP ทั้งหมดราว 2,500 เมกะวัตต์ เป็นกำลังผลิตจากเซลล์แสงอาทิตย์ ราว 1,800 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าในช่วงพีคได้ราว 1,000 เมกะวัตต์ เมื่อรวมกำลังผลิตในระบบของ กฟผ. แล้ว พีคของประเทศจึงยังคงเกิดในเวลากลางวัน ในเวลาประมาณ 14.00 น. มีค่ากว่า 31,000 เมกะวัตต์ ขณะที่พีคจากตัวเลขในระบบที่บันทึกได้ของ กฟผ. เกิดในเวลากลางคืนหลัง 4 ทุ่ม ดังที่กล่าวมา


นอกจากนี้ ความต้องการไฟฟ้าที่สูงขึ้นหลัง 4 ทุ่ม ยังเป็นผลมาจากผู้ใช้ไฟฟ้าอัตรา TOU Rate ที่ปรับการใช้ไฟฟ้ามาใช้ในช่วง Off peak หลัง 4 ทุ่ม เนื่องจากอัตราค่าไฟฟ้าถูกกว่าช่วง Peak เวลา 9.00 น. – 22.00 น.

พีคของระบบ กฟผ. ในเวลา 4 ทุ่ม ส่งสัญญาณถึงความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งโครงสร้าง และรูปแบบการผลิตพลังงานที่แตกต่างจากอดีต ชี้ให้เห็นว่า พลังงานหมุนเวียน และผู้ผลิตรายเล็กต่างๆ เริ่มมีบทบาทต่อระบบไฟฟ้าของประเทศมากขึ้น นับเป็นอีกจุดเปลี่ยน ด้านพลังงานไทยที่น่าสนใจ


ที่มา : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
         
http://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=1552%3Aarticle-20160705-01&catid=49&Itemid=251