กกพ.เห็นด้วยเปิดประมูลซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์ม พลังงานลมโดยยกเลิกการอุดหนุน

News
Date: 15/07/2016


     โฆษก กกพ.เห็นด้วยแนวทาง ประมูลโซล่าร์ฟาร์มและพลังงานลม โดยยกเลิกการอุดหนุน  ระบุมีผู้ผลิตสนใจดำเนินโครงการจำนวนมากแต่สายส่งไฟฟ้ามีจำกัด  เชื่อแนวโน้มอันใกล้นี้ พลังงานทดแทนแข่งขันราคาค่าไฟฟ้ากับพลังงานจากฟอสซิลได้

     นายวีระพล จิรประดิษฐกุล คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) หรือ เรกูเลเตอร์ ซึ่งเป็นโฆษกของกกพ.เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว Energy News Center  ว่า เห็นด้วยกับแนวคิดการเปิดให้มีการประมูลการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม โดยไม่ต้องมีการใช้เงินอุดหนุนในรูปของ Feed in Tariff หรือ FiT อีกต่อไป  เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สนใจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในรูปของโครงการโซลาร์ฟาร์ม และโครงการพลังงานลม จำนวนมาก ในขณะที่สายส่งไฟฟ้าที่รองรับโครงการมีอยู่อย่างจำกัด  โดยวิธีการประมูลจะช่วยให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ลดลงได้ตามเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าขึ้น  ซึ่งจะไม่เป็นภาระต่อค่าไฟฟ้าจากประชาชน

     โดยในกรณี ของดูไบ ที่ใช้วิธีประมูลการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ จนทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้น เป็นเพราะว่าดูไบ  มีความได้เปรียบ ในเรื่องของแสงแดด ที่มีมากกว่าไทย ซึ่งถ้าหากไทยใช้วิธีเปิดประมูลเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการอุดหนุนราคาค่าไฟฟ้า ต้นทุนการผลิตน่าจะแค่ใกล้เคียงกับเชื้อเพลิงฟอสซิลเท่านั้น  ราคาค่าไฟฟ้าจะไม่ถูกเหมือนการประมูลที่ดูไบ

     อย่างไรก็ตาม รูปแบบการเปิดประมูลโครงการโซลาร์ฟาร์มและพลังงานลมนั้น จะต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของกระทรวงพลังงานว่าจะมีการเปิดรับซื้อเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งปัจจุบัน การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์  ยังมีเหลือค้างอยู่เฉพาะโซล่าร์ฟาร์มของราชการและสหกรณ์การเกษตรเท่านั้น ที่เตรียมรอการเปิดรับผู้ร่วมโครงการเฟสที่ 2  รวมทั้งโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรี นำร่องที่ยังไม่ได้ให้ขายไฟฟ้าเข้าระบบ  

     ในส่วนพลังงานทดแทนประเภทอื่นๆ เช่น ขยะ ชีวมวล ชีวภาพ นั้น ไทยยังไม่สามารถใช้วิธีประมูลได้ทั้งหมด เนื่องจากยังมีผู้ผลิตไฟฟ้าไม่มากรายเท่ากับพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม จึงต้องมีการเปิดรับซื้อและให้เงินอุดหนุนค่าไฟฟ้าเพื่อจูงใจผู้ประกอบการต่อไปก่อน 

     สำหรับเป้าหมายของการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan – AEDP 2015) ที่ใช้ระหว่างปี 2558-2579 นั้น กำหนดไว้จะรับซื้อจนถึงปี 2579 ที่จำนวน 6,000 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันมีนโยบายการเปิดรับซื้อไปแล้ว จำนวนประมาณ 3,800 เมกะวัตต์ ส่วนพลังงานลมนั้น กำหนดเป้าหมายรับซื้อไว้ที่ 3,000 เมกะวัตต์ แต่เปิดรับซื้อไปแล้ว 1,800 เมกะวัตต์


ที่มา : http://energynewscenter.com/index.php/news/detail/264