นักวิจัย MIT พบวิธีผลิตแผงโซลาร์เซลล์ราคาถูกจากเศษหญ้า
จะดีแค่ไหน หากเราสามารถผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้เองง่าย ๆ ที่บ้าน โดยอาศัยเพียงการตัดเล็มหญ้าในสนามเท่านั้น และนั่นคือสิ่งที่ Andreas Mershin นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ค้นพบ
Andreas Mershin ระบุว่า การผลิตแผงโซลาร์เซลล์ราคาถูก อาจสามารถทำได้อย่างง่ายดาย ซึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ต้องการ มีเพียงอินทรีย์สารสีเขียว เช่น เศษหญ้าที่เหลือทิ้งจากการตัดเล็มในสวนหลังบ้าน หรือขยะเกษตรกรรม เป็นต้น โดยนำมาผสมรวมกับสารเคมีที่หาได้ในราคาไม่แพง ก่อนนำไปป้ายทากับหลังคา ซึ่งถือเป็นการประยุกต์เทคโนโลยีสุริยะชีวภาพ “biophotovoltaics” หรือกระบวนการสังเคราะห์แสงที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้า ที่ไม่ต้องอาศัยเทคนิคและเครื่องมืออันซับซ้อนจากห้องทดลองแต่อย่างใด
หากแนวคิดดังกล่าว ได้รับการพัฒนา จะกลายเป็นเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์รูปแบบใหม่ ที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในราคาประหยัด เหมาะสำหรับพื้นที่ห่างไกล และประเทศกำลังพัฒนา ที่ซึ่งผู้คนยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งพลังงาน หรือยังมีพลังงานไฟฟ้าเข้าไปให้ใช้งานอย่างเพียงพอ และคาดว่าจะสามารถยกระดับการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ได้มากถึง 10,000% จากการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากโรงงานผลิตที่มีอยู่
แต่ทั้งนี้ Andreas Mershin สรุปไว้ว่า แนวคิดดังกล่าว ยังถือว่าค่อนข้างห่างไกลจากความเป็นจริง เพราะผลจากทดลอง แผงโซลาร์เซลล์ที่ได้จากอินทรีย์สารสีเขียว ยังสามารถแปลงความร้อนจากแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าได้เพียง 0.1% ซึ่งหากอยากให้เกิดขึ้นจริงนั้น ต้องศึกษาและพัฒนาต่อยอดอย่างหนัก ให้เพิ่มขีดความสามารถในการแปลงพลังงานได้เพิ่มขึ้นอีก 10 เท่า